เล่าประสบการณ์การไปเยี่ยมชมบริษัทใน Silicon Valley

Panjamapong Sermsawatsri
PanJ’s Blog
Published in
2 min readOct 28, 2017

--

เวลาคุยกับใครที่เคยไป Silicon Valley มา ทุกคนจะบอกว่าให้ลองไปดูซักครั้ง ไปซึบซับบรรยากาศ ตอนฟังก็ยังไม่ค่อยเก็ต ว่าอากาศที่ Silicon Valley มันพิเศษ ต่างจากอากาศปนควันจากท่อไอเสียรถยนต์ในกรุงเทพฯ อย่างไร พอได้จังหวะที่ Google พาไปงาน Chrome Dev Summit ที่ San Francisco ก็เลยถือโอกาสเยี่ยมชมบริษัทใน Silicon Valley ซะเลย

และโชคดีที่มีเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่สามารถพาเราเข้าไปเยี่ยมชมบริษัทได้ และได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทำให้พอเห็นภาพว่าทำไมพื้นที่แห่งนี้ ถึงเป็นจุดกำเนิด Startup ระดับโลกจำนวนมาก

ไม่ได้เข้าไปใน Apple ขอไปซึมซับพลังก็ยังดี

ระบบนิเวศที่สมบูรณ์

ระบบนิเวศที่ Silicon Valley นั้นเป็นสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ และยากที่จะเลียนแบบ อันที่จริงส่วนตัวผมเชื่อว่าเลียนแบบไม่ได้เลยมากกว่า โดยตัวละครต่าง ๆ ในระบบนิเวศนี้ประกอบไปด้วย

  1. มหาวิทยาลัย
    ผมไปเยี่ยมที่ Stanford มา ที่นั่นไม่มีการเลือกสาขาวิชาตอนเข้าไปเรียน คือให้เรียนไปสักพักก่อนแล้วค่อยเลือกที่ตัวเองชอบ เป็นการศึกษาที่เปิดกว้างจริง ๆ และมีระบบที่บริษัทที่ประสบความสำเร็จ กลับมาช่วยพัฒนามหาวิทยาลัย สร้างตึกให้ทุนวิจัย ทุนการศึกษา
  2. บริษัท
    บริษัทที่นี่มุ่งเน้นการพัฒนาคน ควบคู่ไปกับการพัฒนาธุรกิจ ทำให้คนเก่ง ๆ ก็อยากมาทำงานด้วย เพราะทำให้ตัวเองยิ่งเก่งขึ้นไปอีก
  3. นักลงทุน
    นักลงทุนเป็นปัจจัยที่ทำให้บริษัท ได้มีเงินทุนตั้งต้นในการทำไอเดียออกมาให้เป็นจริง ถึงอัตราการสำเร็จของ startup ที่นี่จะต่ำ แต่ถ้าสำเร็จผลตอบแทนก็สูงมากเช่นกัน
  4. บุคลากร
    เนื่องจากที่นี่มีการตอบแทนพนักงานที่สูง และมี process การทำงานที่มีประสิทธิภาพ จึงไม่แปลกใจเลยที่ที่นี่เป็นแหล่งรวมคนเก่งจากทั่วโลก
  5. ภาครัฐ
    บทบาทของภาครัฐคือคนทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน คือขอแค่ให้มีสาธารณูปโภคทั่วถึง มีถนนที่ปลอดภัย สภาพการจราจรไม่ติดขัด แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว

ลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ก็คือนักลงทุนสามารถลงเงินเป็นจำนวนมาก โดยที่บริษัทยังไม่มีรายได้ หรือโปรดักท์เลยด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าแหกกฎทางการเงินทุกข้อเลยก็ว่าได้ แต่สาเหตุที่ระบบนิเวศนี้ยังคงดำเนินต่อไปได้ก็เนื่องจาก ขนาดตลาดตั้งต้นที่ใหญ่ และชุดความคิดที่ตั้งเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้ใช้ทั่วโลกเป็นหลัก ทำให้ถึงแม้ว่ามีเพียง 1% ของบริษัทที่ลงทุน เกิดประสบความสำเร็จ นั่นก็ทำให้ผลตอบแทนของการลงทุนเป็นบวกแล้ว ดังนั้นนักลงทุนจะกลัวตกรถมากกว่ากลัวเจ๊ง ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าเป็นสิ่งที่ดีเท่าไหร่นะ แค่ ณ ปัจจุบันระบบมันยังดำเนินไปได้ของมันอยู่ แต่หลัง ๆ ก็เริ่มได้ยินว่านักลงทุนเริ่มมีความ conservative มากขึ้นในการตัดสินใจลงทุน

โซนเล่นเกม ในออฟฟิศ Facebook

ชุดความคิดที่ก้าวหน้า

เรื่องชุดความคิดหรือ mindset นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การที่บริษัทจะประสบความสำเร็จ ทุกคนตั้งแต่ CEO ไปจนถึงพนักงานทุกคนจะต้องมี mindset ที่ดี มิเช่นนั้นบริษัทจะหลงทางและดิ่งลงเหวได้ บริษัทที่นี่จึงให้ความสำคัญกับคนเป็นอย่างมาก software developer หรือ software engineer เป็นอาชีพที่ทำเงินได้ดี และได้รับการยอมรับในสังคม และไม่จำเป็นจะต้องมี carrer path โตขึ้นเป็น manager เสมอไป

บริษัทที่นี่มี mindset ในการ maximize efficiency ของพนักงานทุกคน ในจุดนี้ตัวโครงสร้างพื้นฐานและลักษณะเมืองได้ทำหน้าที่ในส่วนนึง คือเนื่องจากบริเวณ Silicon Valley นั้นไม่ได้อยู่ในเมืองใหญ่ ทำให้ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการเดินทาง หรือการจราจร ซึ่งช่วยประหยัดเวลาและลดความเครียดของพนักงานได้ดีทีเดียว

บริษัทใน Silicon Valley ส่วนใหญ่จะมีอาหารให้กับพนักงาน ตอนแรกผมคิดว่าเป็นนโยบายดึงดูดให้คนมาทำงานด้วย แต่คิดไปคิดมา เหตุผลหลักน่าจะเป็นการเพิ่ม productivity ของพนักงาน ลองนึกดูว่าถ้าทุกเที่ยงพนักงานต้องมานั่งนึกว่าจะกินอะไรดี และออกไปกินข้างนอก 2 ชั่วโมงกว่าจะกลับมา เวลาของบุคลากรที่เสียไปนี่ คิดเป็นค่าจ้างก็หลายตังอยู่ (แอบบอกว่าในบรรดาบริษัทที่ไปเยี่ยมชมมา อาหารของ Twitter เจ๋งสุดแล้ว)

ที่ Twitter มีชาโปรดเราด้วย แบบไม่อั้นเลยทีเดียว

จะเห็นได้ว่าแค่เฉพาะในส่วนของการบริหารคน การมีชุดความคิดที่ดีนั้นช่วยพาบริษัทไปยังเป้าหมายได้อย่างไร

หันกลับมามองไทย

พอได้เห็นปัจจัยต่าง ๆ ที่ประกอบมาเป็น Silicon Valley แล้ว ก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า เราจะสร้างอะไรแบบนี้ขึ้นมาที่ไทยได้ไหม (ใช้ชื่อ “ศิริกร วัลย์ลี” ดีไหม)

ความเห็นผมเลยคือ Silicon Valley มีเอกลักษณ์ของมัน และเราไม่จำเป็นต้องเลียนแบบทุกอย่าง บางอย่างเป็นข้อจำกัดที่แก้ไขไม่ได้ เช่นสภาพภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ (ที่นั่นอากาศเย็นสบายตลอดปี ไม่หนาวถึงขั้นมีหิมะ ไม่ร้อนถึงขั้นต้องติดแอร์ที่บ้าน) บางอย่างเป็นเรื่องที่เกินกว่าเราจะทำอะไรได้ เช่นปัญหารถติด คุณภาพอากาศ น้ำท่วม

สิ่งที่พอจะช่วยได้คือการสร้างบุคลากร แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าเราไม่สามารถสร้างบุคลากรชั้นนำ ให้มาทำงานที่ไทยได้ โดยยังขาดปัจจัยที่สำคัญก็คือ ความสำเร็จของธุรกิจ และความท้าทายของงาน

ความสำเร็จของธุรกิจเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดรายได้ของ software developer ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาไก่กับไข่ เพราะถ้าไม่มี developer ที่มีคุณภาพ โอกาสที่ธุรกิจสาย tech จะเติบโตได้ก็มีน้อย แต่พอธุรกิจไม่โต ก็ไม่มีเงินมาจ้าง developer ดังนั้นในส่วนนี้ต้องอาศัยการที่ค่อย ๆ เติบโตไปเรื่อย ๆ และอาศัยเงินทุนเข้ามาช่วย แต่ต้องพึงระวังไว้ว่าการใช้เงินทุนช่วยอย่างเดียวเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน

ความท้าทายของงานเป็นอีกหนึ่งปัจจัย ยุคต้น ๆ บริษัทในไทยเติบโตมาจากการซื้อมาขายไป พอมามองที่ธุรกิจ software ก็เกิดการไม่เชื่อใจใน software คนไทย ยอมซื้อของต่างชาติราคาสิบล้านมา customize ดีกว่าจ้างคนไทยเขียนราคาล้านนึง อีกอย่างหนึ่งคือยุคบริษัททำเว็บทำแอพได้ผ่านไปแล้ว สำหรับ developer เก่ง ๆ หาก scale ไม่ใหญ่จริง ๆ จะไม่มีความท้าทายใด ๆ ในการทำเว็บทำแอพอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นบริษัทก็ต้อง balance ระหว่าง business value ที่จะช่วยพาบริษัทไปข้างหน้า และ technical challenge ที่จะช่วยทำให้คนเก่ง ๆ ยังอยากที่จะทำงานกับเราอยู่

ปัจจุบันมีบริษัทในไทยที่สามารถจ้าง developer เก่ง ๆ เงินเดือนเยอะ ๆ ได้ไม่กี่บริษัท แต่ยังมีบริษัทที่ต้องการ developer อีกเป็นจำนวนมาก พอ demand สูง เงินเดือน developer ก็สูงตาม บริษัทส่วนนึงหาคนไม่ได้เลย ส่วนนึงยอมรับคนที่ไม่มีประสบการณ์มาปั้น เพราะอย่างน้อยก็ยังดีกว่าไม่มีเลย

ปรากฎการณ์นี้เป็นผลดีต่อ developer เพราะเงินเดือนสูงขึ้น แต่สำหรับบริษัทและอุตสาหกรรมโดยรวมแล้ว ทำให้เกิดการชะงักงันทางนวัตกรรม เพราะไม่ใช่แค่ tech startup/company ที่ต้องการ developer ยังมี sector อีกหลายด้านที่ต้องการกำลังฝั่ง tech เข้าไปเสริม อาจจะไม่ได้ต้องการผลักดันนวัตกรรมอะไร แต่อย่างน้อยคือไปเพิ่ม efficiency ของธุรกิจ แค่นี้ GDP ของประเทศก็เพิ่มขึ้นได้อีกมากทีเดียว

ในระหว่างที่พูดคุยกับเพื่อน ๆ พี่ ๆ คนไทยที่ทำงานบริษัทต่าง ๆ ใน Silicon Valley ก็ถามเขาว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้อยากกลับมาทำงานที่ไทย ส่วนใหญ่ตอบในสองประเด็นก็คือ ครอบครัวอยู่ไทย และทุนบังคับให้กลับไทย

จะเห็นได้ว่าไม่มีเรื่อง เงินดี งานท้าทาย หรือชีวิตความเป็นอยู่ดีเลย และไม่มีคำตอบที่ว่าอยากกลับมาช่วยพัฒนาประเทศไทย ซึ่งถูกต้องแล้ว เราไม่สามารถหวังว่าจะให้นักเรียนจบนอก กลับมารับเงินเดือนสามหมื่น ผจญรถติด มาทำงานที่ไม่ท้าทาย โดยให้เค้ายึดเหนี่ยวสิ่งเดียวก็คือการพัฒนาประเทศชาติได้ เพราะมันเป็นเรื่องที่ abstract และไกลตัวมาก

มันจึงเป็นหน้าที่ของคนที่ไทย ที่จะช่วยกันพัฒนาระบบนิเวศของเราเองจนคนที่ทำงานต่างประเทศ อยากจะกลับมาทำที่ไทย และไปอีกขั้นหนึ่งคือ คนต่างชาติ ก็อยากมาทำงานที่ไทย

--

--